มติของคณะกรรมการบริหารราชวิทยาลัยรังสีเเพทย์เเห่งประเทศไทย เมื่อวันพฤหัสที่ 29 มิ.ย.2560 ภายหลังได้รับคำปรึกษาอาจารย์รังสีเเพทย์อาวุโสหลายท่าน อดีตประธานราชวิทยาลัยเเละอดีตนายกรังสีวิทยาสมาคม รวมถึงนายกสมาคมต่างๆ อาทิ สมาคมรังสีรักษา สมาคมเวชศาสตร์นิวเคลียร์ รังสีวิทยาสมาคม สมาคมอัลตร้าซาวด์ ได้กำหนดให้วันที่ 28 มกราคมของทุกปีเป็น”วันรังสีวิทยาไทย”
โดยได้พิจารณาว่า วันดังกล่าวเมื่อปี พศ. 2471 เป็นครั้งเเรกที่นายเเพทย์หลวงพิณพากษ์พิทยาเภท ผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นบิดาเเห่งรังสีวิทยาไทย ได้ประกอบเครื่องเอกซเรย์ขึ้น เเละมีการถ่ายภาพรังสีให้เเก่ผู้ป่วยไทยรายเเรกที่ศิริราชพยาบาล ซึ่งถือเป็นการก่อกำเนิด “เเผนกเอกซเรย์วิทยา” ขึ้นครั้งเเรกในประเทศไทย แม้ว่าเครื่องเอกซเรย์ดังกล่าวจะถือเป็นเครื่องที่เเปดของประเทศก็ตาม ส่วนเครื่องเอกซเรย์เครื่องเเรกนั้น เราทราบหลักฐานเเต่เพียงว่าว่าเป็นเครื่องเอกซเรย์ที่นำเข้ามาโดยเเพทย์ชาวอเมริกันในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปีพศ. 2441 เพียงเเค่สามปีหลังการค้นพบเครื่องเอกซเรย์ของเรินท์เกน
การกำหนดให้มีวันรังสีวิทยาไทยดังกล่าว จึงเท่ากับว่าในวันที่ 28 มกราคม พศ.2561 ปีหน้าจะครบรอบ 90ปี รังสีวิทยาไทยนั้นเอง
วันรังสีวิทยาไทย มิได้มีเพื่อการเฉลิมฉลอง หรือทำพิธีสำคัญ แต่เเนวคิดใหม่คือความพยายามที่จะสร้างความตระหนักรู้สู่ประชาชนให้เข้าใจเกี่ยวกับงานด้านรังสีวิทยาซึ่งครอบคลุมสิ่งที่กว้างขวางกว่าเเค่เอกซเรย์ เเต่ได้เจริญก้าวหน้าครอบคลุมถึงการตรวจการรักษาหลายประเภท มีสหสาขาวิชาชีพร่วมกันปฎิบัติงานเพื่อรักษาและฟื้นฟูชีวิตคนไทย ที่สำคัญควรสร้างความเข้าใจเเก่สังคมให้รับรู้ปัญหาเเละะข้อจำกัดทางวิชาชีพ โดยหวังจะส่งผลให้ลดความขัดเเย้งระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ หรือ แพทย์กับผู้ป่วยได้